ไม่ได้อยากกระโจนเข้าสู่ ‘การแข่งขัน’ แต่เด็กไทยในยุคปัจจุบันก็หนีวัฏจักรของการดิ้นรนสู่ความเป็นที่ 1 ในโลกแห่งทุนนิยมเสรีไม่พ้น

“ในโลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท ก็คือ ผู้ชนะและผู้แพ้ สิ่งที่ฝังลึกลงไปถึงแก่นแท้ภายในจิตใจของคุณแต่ละคนนั้นคือ ผู้ชนะ ซึ่งพร้อมแล้วที่จะถูกปลดปล่อยออกมา…ห้ามลังเล ห้ามบ่น ห้ามโทษคนอื่น ผมอยากให้คุณก้าวออกมาสู่โลกของผู้ชนะ”

ประโยคเริ่มเรื่องในหนังแนว Road Movie อย่าง Little Miss Sunshine ที่ออกฉายเมื่อหลายปีก่อน สะท้อนความเป็นทุนนิยมเสรีได้อย่างชัดเจน เพราะหัวใจสำคัญของสังคมในรูปแบบที่ว่านั้นก็คือ “การแข่งขัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกเราทุกวันนี้ก้าวเข้าสู่ยุคของการแข่งขันอย่างเต็มที่แล้ว หากมองในแง่ดี การแข่งขันจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ทว่า ในทางกลับกัน เกมการแข่งขันก็ทำให้มนุษย์แปลกแยกออกจากกันมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะในสังคมเมืองขนาดใหญ่ที่ระบบการแข่งขันแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกๆ กิจกรรมของการดำเนินชีวิต

และไม่เพียงแค่ “ผู้ใหญ่” เท่านั้นที่ต้องชิงชัยเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ แต่ “เด็ก” ที่เป็นความหวังของทุกคน ก็หนีไม่พ้นวังวนแห่งการแข่งขันนี้เช่นกัน

0 0 0 0 0

ในอดีต “การศึกษา” ดูเหมือนจะเป็น “หน้าที่” เพียงอย่างเดียวที่ผู้ปกครองคาดหวังกับเด็กๆ โดยมักจะมีชุดคำพูดที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือ “เรียนสูงๆ จะได้ทำงานดีๆ” เด็กไทยจึงแข่งขันชิงดีกันด้วยการศึกษา ซึ่งนอกจากห้องเรียนปกติที่ว่ากันว่า เด็กไทยใช้เวลาในห้องเรียนมากที่สุดในโลกแล้ว สถาบันกวดวิชาต่างๆ ก็ยังทำหน้าที่ราวกับเป็นบ้านหลังที่ 2 ของเด็กๆ ด้วย

แต่…เครียดกับการเรียนยังไม่พอ ทุกวันนี้เด็กไทยยังต้องแข่งขันกับคนอื่นด้วยการแสดงออกถึงศักยภาพภายในที่โดดเด่น ดังจะเห็นได้จากการเติบโตของสถาบันพัฒนาศักยภาพ “for kids” ที่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอรูปแบบการแข่งขันสำหรับเด็ก โดยมี concept ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ได้รับความสนใจจากเด็กๆ และผู้ปกครองมากมายทีเดียว

“คิดว่าเป็นแนวโน้มของสังคมมากกว่า อาจจะเชื่อมโยงกับคำตอบที่ว่า พ่อแม่มีลูกน้อยลง เพราะฉะนั้น พอเห็นลูกเพื่อนค่อนข้างเก่ง เราก็ต้องมองหาจุดเก่งของลูกเราด้วย มันก็เลยนำไปสู่การกระตุ้นตั้งแต่เล็กๆ มันไม่ใช่แค่สถาบันสอนร้องเพลงหรืออะไร บางคนก็ไปสถาบันสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ 2 ขวบ อะไรแบบนี้ จริงๆ แล้วมันถูกส่งเสริมมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วกระตุ้นมาเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งที่เด็กสามารถประกวดได้ แข่งขันได้ พ่อแม่ก็พยายามส่งเสริม ถามว่าเป็นเพราะกระแสมั้ย เปรียบเทียบกับคนอื่นมั้ย คิดว่ามีส่วน แต่มันคงบวกกับมีลูกน้อยลง บางบ้านก็มีคนเดียว หรือ 2 คน มันไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มีเป็นสิบ เพราะฉะนั้นความคาดหวังก็มากขึ้น ร่วมกับสังคม สื่อ ทีวี อินเตอร์เน็ตก็ประโคมเรื่องการแข่งขันค่อนข้างสูง แนวโน้มก็เลยทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูงขึ้น รุนแรงขึ้น” แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์ กุมารแพทย์, จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ อธิบายถึงเด็กยุคใหม่กับการแข่งขัน

คุณหมอโสรยา เสริมต่อว่า จริงๆ แล้ว การแข่งขันสามารถมองได้ 2 ด้าน คือ ด้านบวกและด้านลบ สำคัญอยู่ที่ว่าผู้ปกครองจะทำให้เด็กๆ มองการแข่งขันไปในทิศทางไหน

“ในด้านบวกมันก็มี คือเด็กจะได้พัฒนาตัวเอง เป็นเด็กที่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่ใช่เด็กลอยไปลอยมา อะไรก็ไม่เอา ถามว่าพอเด็กได้รับการพัฒนาจนถึงตรงนี้ก็ถือว่ามีจุดแข็ง เวลาเด็กมีจุดแข็งก็เอาไปใช้ได้หลายอย่าง เช่นเวลาที่ตัวเองอาจจะอ่อนด้อยด้านไหน เราก็สามารถเสริมจุดแข็งมาชดเชยตรงนั้นได้ ก็จะทำให้เหมือนตัวตนเด็กก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ยังภูมิใจในตัวเอง ฉันเรียนไม่เก่ง แต่ฉันร้องเพลงเก่ง ก็สามารถชดเชยกันได้ คือจะมองเป็นจุดดี แต่ในด้านลบก็มีเหมือนกัน ในกรณีที่พ่อแม่กดดันค่อนข้างเยอะ หรือว่าบางครั้งพ่อแม่พาลูกไปแข่ง แล้วก็ไปผูกชัยชนะกับตัวตนของลูก พอแพ้ปุ๊บ เด็กก็จะ โห…เหมือนฉันไม่ดีเลยนะ หนูเป็นเด็กไม่ดี เด็กไม่มีคุณค่า คือมองตัวเองในแง่ลบทันทีที่ตัวเองแพ้ ซึ่งสุดท้ายแล้วหมอมองว่าครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ”

หนังสือประเภท How to หรือคู่มือพ่อแม่ยุคใหม่ที่วางจำหน่ายอยู่เกลื่อนตลาด ชี้ชัดว่า กระแสการเลี้ยงลูกยุคใหม่ต้องให้เด็กเติบโตมาเป็นคนคุณภาพ แน่นอนว่า พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกๆ ของตัวเองเติบโตมาเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ดังนั้นจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต กอปรกับกระแสสังคมที่กำลังให้ความนิยมกับสิ่งใดก็มักจะเทความสนใจให้กับสิ่งนั้นมาก จึงไม่แปลกที่สถาบันพัฒนาศักยภาพสำหรับเด็กจึงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“อยากให้เลี้ยงลูกด้วยจิตใจ คือหมายความว่า ดูแลเอาใจใส่ แล้วก็ดูว่าเขามีความชอบด้านไหนเป็นพิเศษ แล้วเราค่อยส่งเสริมไปด้านนั้น เด็กเล็กๆ บางทีเขาไม่รู้หรอกว่าเขาชอบอะไร พ่อแม่อาจจะเสริมนิดๆ เหมือนบางคนไปเรียนดนตรีแป๊บหนึ่ง ไม่เอาแล้ว เราต้องคะยั้นคะยอสักนิดหนึ่ง ลองดูผ่านช่วงหนึ่งเด็กอาจจะชอบก็ได้ บางทีก็บอกยากเหมือนกัน แล้วก็เลี้ยงดูตามศักยภาพ ศักยภาพเขาแค่ไหน เราก็เลี้ยงดูเขาแค่นั้น ส่งเสริมตามความเป็นจริง บางทีพ่อแม่มุมมองกับลูกมันจะโอเว่อร์เลยนะ รู้สึกว่าลูกฉันเก่งมากเลย ก็ต้องงดเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่น เพราะนั่นจะทำให้เด็กย่ำแย่ บางทีเทียบกับพี่น้อง หรือเทียบกับเด็กข้างบ้าน เด็กก็จะรู้สึกว่า มันไม่ใช่ เพราะจุดแข็งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเรียนไม่เก่ง พ่อแม่ก็ชอบเปรียบเทียบเรื่องการเรียน แต่อาจจะเล่นกีฬาเก่งก็ได้ เราก็ไปส่งเสริมเรื่องกีฬา แต่เรียนหนังสือเรียนมั้ย เรียนนะคะ แต่ไม่ต้องไปเทียบว่าทำไมเขาเรียนได้ที่ 10 ทำไมเราได้ที่ 30

“จริงๆ ความคาดหวังมันเป็นความน่าเห็นใจของพ่อแม่นะ ใครๆ มีลูกก็ต้องคาดหวังทั้งนั้น เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องปรับให้มันพอเหมาะพอสมกับลูก คือหวังได้ มันต้องหวังนะคะ หวังได้มั้ย หวังได้ แต่ว่าอย่าไปผ่านอะไรที่มันกดดัน อย่างหมอหวังให้ลูกเรียนเก่งมั้ย หมอก็ต้องหวังให้ลูกเรียนเก่ง ถูกมั้ย เป็นธรรมชาติของพ่อแม่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตรงนั้นเราดำเนินการยังไง นั่นคือสำคัญ แต่พ่อแม่เขาก็ไม่รู้ตัวว่าเรากำลัง pressure ลูก เขาจะรู้สึกว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกอยู่…หรือความใฝ่ฝันตัวเองในวัยเด็กมันไม่ได้ถูกเติมเต็ม บางคนก็มาใส่ที่ลูกให้เติมเต็มในสิ่งที่ขาด แต่ก็ไม่ทั้งหมด คิดว่ามีแค่ส่วนเดียว” คุณหมอโสรยา ว่า

บุญวิภา พรลิขิตเปี่ยมโชติ อาจเป็นหนึ่งในคุณแม่ “ส่วนเดียว” อย่างที่คุณหมอโสรยาบอก เพราะเธอยอมรับว่า ตอนเด็กๆ เธอเองเป็นคนขาดความมั่นใจ เมื่อมีลูกจึงอยากฝึกฝนให้เขาเป็นคนที่มีความมั่นใจตั้งแต่เด็ก

“ปลูกฝังให้เขาร้องเพลง เพราะตอนเด็กๆ เราเป็นคนขี้อาย ยืนหน้าชั้นขาก็สั่น ปวดฉี่ รู้สึกว่าเป็นปมด้อย พอมีลูกเราก็เลยฝึกให้เขากล้า ให้เขามั่นใจ แต่ตัวน้องเองเขาก็ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กด้วย ตั้งแต่ 2 ขวบ เราเลยสนับสนุนเขา แต่เดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นว่าพ่อแม่จะมีคู่มือเลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ ซึ่งนั่นผิดประเด็นแล้วนะ คุณกำลังสร้างความเครียดให้กับลูก เด็กไทยตอนนี้เรียนหนักเกินไป เรียนในโรงเรียนเสร็จก็ต้องไปเรียนพิเศษ เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องเรียน ไปสถาบันนั้นนี้เต็มไปหมด ซึ่งเราไม่สนับสนุนแบบนั้น เราให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ”

ผลแห่งการฝึกฝนทำให้ น้องจีนี่-ญาณิศา แสงภักดี ลูกสาววัย 8 ขวบของบุญวิภา และเป็นนักเรียนจากโรงเรียนนานาชาติ KIS ผ่านเข้ารอบ Battle ในการแข่งขัน The Vioce Kids Thailand ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวหนึ่งในการแข่งขัน

“น้องเขาก็เคยถามคุณแม่เหมือนกันว่า ถ้าหนูทำไม่ได้คุณแม่จะรู้สึกยังไง แม่ก็บอกว่า ถึงโค้ชไม่กดเลยคุณแม่ก็ไม่สนใจ เพราะหัวใจของแม่อยู่ที่ลูกหมดแล้ว”

ด้านคุณพ่อ คเชนทร์ แสงภักดี เสริมว่า การเลี้ยงลูกยุคใหม่ต้องใช้หัวใจไม่ใช่เงินทอง ดังนั้นต้องใส่ใจและให้เวลากับลูกมากๆ

“เราเลี้ยงลูกแบบให้ลูกใช้ความคิด ให้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ อย่างเรื่องไปประกวดแข่งขัน เราไม่เคยสอนให้เขาชนะ บางรอบเขาชนะ เขายังไม่รู้ตัวเลยว่าเขาชนะ อะไรแบบนี้ คือ…การไปแข่งขันในความคิดของครอบครัวเรา เป็นการให้เขาไปเรียนวิชาสังคมศาสตร์ จะสอนเขาว่า ถ้าทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด อย่าไปคาดหวัง อย่าไปกดดัน แล้วน้องเขาชอบในสิ่งที่เขาทำ เมื่อเขาเห็นคนดูยิ้มให้เขาก็มีความสุข แค่นั้น”

ส่วน กุลนาถ กฤตย์คุณาวุธ คุณแม่ของ น้องบอส-ปาลีรัตน์ ก้อนบาง นักร้องเสียงดีวัย 14 ปี จากโรงเรียนราชวินิต บางแก้ว ยอมรับว่า การเลี้ยงลูกในยุคที่มีการแข่งขันสูงในทุกๆ ด้านนั้น ถือว่าต้องใช้ความเข้าใจสูง เพราะนอกจากจะต้องส่งเสริมกิจกรรมตามความพึงพอใจของลูกๆ แล้ว การดูแลให้เขาอยู่ในกรอบที่ดีงามแบบที่สังคมต้องการ ก็ถือเป็นงานที่หนักหนาพอสมควร

“เราต้องทำความเข้าใจกับวัยรุ่นว่าเขาต้องการอะไร ยิ่งเดี๋ยวนี้มีอินเตอร์เน็ต มีเฟซบุ๊ค ก็ห้ามยากนะ แต่เราก็จะมีระเบียบวินัยในการใช้ กำหนดเวลาให้เขา แบ่งเวลา แม่ไม่ห้ามนะแต่ต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน เราจะปลูกฝังว่าอะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม แล้วให้ลูกเป็นเพื่อนกับแม่ในเฟซบุ๊คด้วย คือถ้าลูกพูดไม่ดีออกไปเราก็จะคอยเตือน”

ในส่วนของการตัดสินใจเข้าสู่การแข่งขัน กุลนาถ ว่า เป็นความต้องการของลูกสาวเองล้วนๆ

“หนูชอบร้องเพลงค่ะ ชอบความท้าทาย อยากไปโชว์ความสามารถที่เรามีให้คนอื่นๆ ได้ชม ก็คาดหวังไว้นิดหน่อย แต่ก็ทำเต็มที่ หนูว่าการแข่งขันมันทำให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น มีความพยายาม แต่ถ้าไปแข่งไม่ชนะ บางทีก็เสียใจนะ แต่หนูจะไม่เสียใจนาน จะบอกตัวเองว่า วันนี้เราพลาดไป ไม่เป็นไรวันหน้ายังมีอีกหลายเวทีที่รอเราอยู่ คือจะให้กำลังใจตัวเองตลอด” น้องบอส หนึ่งในผู้เข้ารอบจากการประกวด The Voice Kids Thailand บอก

ทั้ง 2 ครอบครัวถือเป็นตัวอย่างของการนำพา “เด็ก” เข้าสู่การแข่งขันแบบรู้เท่าทัน ทั้งยังสามารถแปลงสนามแห่งการต่อสู้นั้นให้กลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากเย็น

แต่ก็ใช่ว่าพ่อแม่ยุคใหม่ทุกคนจะสามารถอบรมลูกให้มีความสุขกับชีวิตได้ทั้งหมด เพราะบางครอบครัวที่ใช้วิธีการเลี้ยงแบบผิดๆ อาจจะทำให้เด็กคิดไปเองว่า “ต้องชนะ” เท่านั้นจึงจะอยู่ในสังคมที่มีแต่การแข่งขันแห่งนี้ได้ ซึ่งคุณหมอโสรยา บอกว่า เด็กที่อยู่ในบรรยากาศการแข่งขันแบบกดดันมาตลอด อาจจะมองเห็นแต่ตัวเอง จนนำไปสู่การเอาเปรียบ หรือทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ชนะ

จริงอยู่ว่า ในสังคมแห่งการแข่งขันย่อมมีทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” ผู้ชนะคือผู้ที่ถูกเลือก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้แพ้จะไม่มีที่ยืนในสังคม และถ้าจะวิเคราะห์กันให้ดีๆ โลกใบนี้มีผู้แพ้เดินสวนทางกันไปมาเต็มไปหมด ผู้ชนะต่างหากที่โดดเดี่ยว เพราะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ถึงอย่างไร พ่อแม่ยุคใหม่(ส่วนมาก)ก็มีความหวังลึกๆ ว่า อยากให้ลูกของตนเองเป็น “ผู้ชนะ” อยู่ดี